ลิสซิ่ง คืออะไร ไขข้อข้องใจ

หลายบริษัทเกี่ยวกับการเงิน ที่เรารู้จักกัน มักจะมีคำว่า “ลิสซิ่ง” ต่อท้าย แต่หลายคนคงยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว ลิสซิ่ง คืออะไร เป็นคำที่ใช้เรียกบริษัทหรอ? หรือเป็นคำที่ใช้เรียกสินเชื่อ? แล้วทำไมต้องลิสซิ่ง? เรามาสรุปแบบเข้าใจง่าย ๆ ให้ครับ

ลิสซิ่ง จริง ๆ แล้วคือ สัญญาเช่าประเภทหนึ่งครับ เป็นการให้เรานำสินทรัพย์นั้น ๆ ไปใช้ ในขณะที่เราจ่ายเงินเป็นงวด ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และเมื่อครบสัญญาแล้ว เราสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อต่อสินทรัพย์นั้น หรือจะเช่าตอนสินทรัพย์นั้น หรือจะคืนสินทรัพย์นั้นให้กับเจ้าของก็ได้ 

แล้วสัญญาเช่าซื้อ ต่างกับสัญญาลิสซิ่งยังไง และทำไมเราถึงได้ยินคำว่าลิสซิ่ง อยู่คู่กับสินเชื่อรถยนต์ตลอดเลย ธุรกิจลิสซิ่งรถยนต์จริง ๆ แล้วคืออะไรมาติดตามอ่านต่อกันครับ

ลิสซิ่ง คืออะไร?  


ลิสซิ่ง Leasing เป็นธุรกรรมการให้เช่าประเภทหนึ่ง ที่คล้ายกับสัญญาเช่าซื้อแต่ก็มีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย โดยเราสามารถนำสินค้านั้น ๆ ไปใช้ก่อนได้ ในขณะที่เราจ่ายเงินเป็นงวด ๆ ตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งแตกต่างกับสัญญาเช่าซื้อทั่วไปก็คือ เมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้ว เราสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อสินค้านั้น หรือต่อสัญญาเช่า หรือว่าจะส่งคืนสินค้าให้กับผู้ให้เช่า

โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ทำสัญญาแบบลิสซิ่งจะเป็นบริษัท องค์กร หรือนิติบุคคลที่ต้องการเช่าซื้อสินค้าที่มีราคาแพง ในปริมาณมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์, เครื่องจักร, เครื่องยนต์, เครื่องมือก่อสร้าง, อุปกรณ์สำนักงาน, คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์ทางการแพทย์, อุปกรณ์ขนส่ง ไปจนถึงเครื่องมือที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว



ประเภทของสัญญาลิสซิ่ง 


สัญญาลิสซิ่ง หรือเรียกอีกอย่างว่าสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งสามารถแบ่งประเภทของสัญญาได้ 3 ประเภท ดังนี้

  1. การเช่าทางการเงิน หรือเช่าทรัพย์สินประเภททุน (Financial Lease)
    เป็นสัญญาที่ผู้ให้เช่าหรือบริษัทเงินทุน สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้เช่า หรือผู้ประกอบการ
  • สัญญาเช่าระยะยาว ผู้เช่ามีฐานะเหมือนเป็นเจ้าของสินทรัพย์
  • โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนทั้งหมดที่เจ้าของต้องได้รับให้กับผู้เช่า
  • ครบกำหนดสัญญา ทรัพย์ยังคงเป็นของผู้ให้เช่า ซึ่งผู้เช่าจะเลือกซื้อสินทรัพย์นั้นหรือไม่ก็ได้
  1. การเช่าดำเนินงาน (Operating Lease)
    เป็นสัญญาที่ผู้ให้เช่าให้เช่าทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานหลาย ๆ อย่างเกี่ยวเนื่องกัน
  • ไม่มีการโอนความเสี่ยงหรือผลตอบแทน
  • ผู้เช่าไม่หวังจะเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น ๆ 
  • อายุสัญญาสั้น เมื่อสินสุดสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าสามารถนำสินทรัพย์ไปให้ผู้อื่นเช่าต่อได้อีก
  • ผู้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญานั้นก่อนกำหนดได้
  1. การเช่าแบบขายแล้วเช่าคืน (Lease Back) 

เป็นสัญญาที่เจ้าของขายทรัพย์ของตนเองให้กับบริษัทลิสซิ่ง โดยบริษัทลิสซิ่งชำระราคาทรัพย์แล้วพร้อม ๆ กันนั้นก็นำทรัพย์นั้นให้ผู้ขายได้ใช้ประโยชน์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การนำสินทรัพย์ไปทำการรีไฟแนนซ์นั่นเอง


ธุรกิจลิสซิ่งที่เราเคยได้ยินชื่อกัน จึงเป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้เช่า ด้วยการเป็นตัวกลางจัดหาสินค้าหรือทรัพย์สินตามที่ผู้เช่าต้องการ โดยผู้ให้เช่ายังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ๆ ในขณะที่ผู้เช่าเป็นเพียงผู้ใช้สินทรัพย์นั้น ๆ และจ่ายค่าเช่าตามระยะเวลาที่ตกลงกันตามสัญญา เรียกได้ว่าลิสซิ่งส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สินทรัพย์นั้นมากกว่าความเป็นเจ้าของสินทรัพย์


สัญญาเช่าซื้อกับสัญญาลิสซิ่ง แตกต่างกันยังไง?


สัญญาเช่าซื้อ


คู่สัญญามุ่งที่จะใช้หรือให้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินและต้องการโอนกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของให้แก่กัน ถ้ามองเป็นกรณีการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หรือก็คือสินเชื่อสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่ให้เราชำระค่างวดตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อครบแล้วก็โอนรถให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่า หรือการซื้อรถเงินผ่อนของเรานั่นเองครับ


สัญญาลิสซิ่ง

จะแตกต่างกับสัญญาเช่าซื้อเล็กน้อยตรงที่คู่สัญญามุ่งที่จะใช้ประโยชน์กับสินทรัพย์นั้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อครบกำหนดผู้เช่าสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อต่อ เช่าต่อ หรือคืนให้กับผู้ให้เช่า ถ้ามองเป็นกรณีการทำสัญญาลิสซิ่งรถยนต์ มักจะเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลที่ต้องการเช่าซื้อรถยนต์ ที่อาจจะต้องการในปริมาณที่มาก ซึ่งมีข้อดีที่ในการบำรุงรักษาทางผู้เช่าไม่จำเป็นต้องแบกภาระเรื่องค่าซ่อมบำรุงในขณะใช้งานด้วย

ซึ่งลิสซิ่งรถยนต์ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ จะเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการเป็นได้ทั้งธนาคารพาณิชย์, บริษัทเงินทุน, บริษัทประกันชีวิต, บริษัทที่จดทะเบียนทั่วไป หรือแม้กระทั้งบริษัทที่ผลิตรถยนต์ ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดหารถยนต์ให้ตามความต้องการ และตามวัตถุประสงค์ของผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้บริโภคที่ขาดเงินทุนที่จะซื้อรถมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง หรือผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้บริโภคที่ไม่ต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถ แต่ต้องการใช้รถในกิจการของตัวเองในระยะเวลาที่กำหนดนั่นเองครับ

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *