สินเชื่อนกน้อย รีวิว ถูกกฏหมายไหม (ดูก่อนกู้)

สินเชื่อนกน้อย เป็นอีกสินเชื่อที่อยู่อันดับต้น ๆ ดาวน์โหลดในหมวด Finance ของ Google Play Store แอปนี้ได้เงินจริงไหม?

สินเชื่อนกน้อย ได้เงินจริงไหม

การกู้ยืมเงินกับสินเชื่อนกน้อย นั้นได้เงินจริง แต่สินเชื่อนี้ไม่ใช่สินเชื่อในระบบ ดังนั้นดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจึงสูงมาก จนอาจจะมากเสียจนจ่ายไม่ไหวกันเลยทีเดียว 

โดยรูปแบบของแอปนี้คือจะทำหน้าตาให้น่าเชื่อถือมาก ๆ ซึ่งถึงแม้ว่าจะมียอดดาวน์โหลดสูง ยอดรีวิวสูงก็อาจจะเกิดจากการปั่นยอด ปั๊มดาวน์โหลด ไม่ต่างจากการปั่นไลค์ แชร์ ในเฟสบุ๊กเลย

และดอกเบี้ยที่คุณเห็นในหน้าโฆษณาก็อาจจะไม่ใช่ดอกเบี้ยจริง อีกทั้งจะกู้ยืมได้ ใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็จริง แต่ข้อมูลในโทรศัพท์คุณก็ถูกดูดไปหมด เพื่อนำไปใช้ในการโทรตามทวงหนี้

ที่สำคัญต้องจ่ายเงินให้ทางระบบก่อน ถึงจะยืมได้ ยืมยังไงก็ไม่ได้วงเงินเต็มสักที และหากใครคิดจะใช้สินเชื่อพวกนี้หลาย ๆ แอปมาช่วยกันหมุนเงิน ก็บอกเลยว่ามีแต่พังกับพัง เพราะจะเกิดเป็นวงจรอุบาท ไม่จบไม่สิ้น มาดูวิธีแก้ปัญหากัน

สินเชื่อนกน้อย ถูกกฏหมาย หรือไม่

หากมองดูผิวเผิน สินเชื่อนกน้อยแทบไม่ต่างจากแอปถูกกฏหมายเลย ทั้งหน้าตาของแอป คำแนะนำผลิตภัณฑ์ และข้อความต่าง ๆ ที่อยู๋ในหน้า Google Play Store แต่จริง ๆ แอปนี้ถือเป็นสินเชื่อนอกระบบ ที่ไม่มีกฏหมายคุ้มครองนะ

ซึ่งวิธีการเช็คนั้นสามารถเช็คได้ง่าย ๆ เมื่อนำชื่อบริษัทไปเช็คที่  www.1359.go.th เว็บไซต์รวบรวมพิโกไฟแนนซ์ และที่ https://www.bot.or.th/app/BotLicenseCheck เว็บไซต์เช็คใบอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน จากธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะพบว่าหาใบอนุญาตของแอปนี้ ไม่เจอเลย

แม้จะมีข้อมูลที่ตั้งบริษัทในหน้า Google Play หรือข้อความที่บอกว่าปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงหากไม่สามารถตรวจสอบใบอนุญาตได้ แอปนั้นก็ผิดกฏหมาย หรือเป็นแอปนอกระบบอยู่ดีอยู่ดี

แล้วถ้าโหลดมาจะเจออะไรบ้าง มาดูกันต่อ

ภัยที่อาจเกิดขึ้นหากดาวน์โหลดมาใช้

ดอกเบี้ยโหด

อ้างอิงจากกระทู้ในเว็บ pantip.com กระทู้นี้ ที่มีการสอบถามว่า แอพกู้เงินในเพร์สโตร์กู้เงินได้จริงไหมคะ แนะนำหน่อยค่ะ จำเป็นต้องใช้ ค่ะ จะมีผู้มีประสบการณ์หลายคนเลยว่า แอปกู้เงินประเภทนี้ กู้เงินได้จริง แต่ ดอกสูงจริง ทวงโหดจริง ยืมแล้วเปลี่ยนใจคืนไม่ได้

ซึ่งนั่นไม่ต่างอะไรกับการกู้เงินนอกระบบเลย และถ้าเราไม่ได้ตั้งใจที่จะกู้นอกระบบ ก็ไม่ต่างจากการตกเป็นเหยื่อของพวกเขา

ถึงแม้แอปเหล่านี้อาจมีข้อความชักจูง และเผยอัตราดอกเบี้ยให้เห็นในหน้าดาวน์โหลด แต่พอคุณโหลดมาใช้จริง ๆ อัตราดอกเบี้ยก็อาจไม่เป็นเช่นนั้น มีความจงใจพิมพ์ตกหล่น หรือคำนวณตกหล่น เช่น ที่หน้าแรกเราอาจเห็นว่าคิดดอกเบี้ย 18% หรือ 18% ต่อปี แต่พอกดยืมจริงแล้ว 18% ที่ว่าจะคิดรายสัปดาห์ ซึ่งคุณต้องคืนเงินใน 7 วัน ไม่งั้นก็ต้องเจอกับการทวงหนี้สุดโหด

ได้เงินกู้ไม่ครบเต็มจำนวน แถมยังต้องจ่ายเงินก่อน

แอปเงินกู้หลอกลวงส่วนใหญ่จะมีลักษณะเด่นเลยคือ มักจะให้อนุมัติสินเชื่อก็ต่อเมื่อลูกค้าโอนเงินไปก่อน อาจจะต้องซื้อบัตรเติมเงิน ซื้อเพชร หรือซื้ออะไรก็แล้วแต่ แล้วถึงจะให้โอนได้ อันนี้ข้อมูลไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลเลย ที่หน้ารีวิวของแอปนั้นนั่นเอง

ทั้งนี้การคอมเม้นต์สามารถวิจารณ์หรือให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ใช้คนอื่น ๆ ได้ และมันเป็นประโยชน์มากนะ แต่ไม่ควรใส่ชื่อ นามสกุลจริง ของตัวเองลงไปในนี้ เพราะจะถูกสืบค้นข้อมูลได้ และเป็นอันตรายมาก

ไม่จ่าย โดนทวง และคนรอบข้างก็โดนด้วย

สำหรับใครที่กู้ไปแล้ว หากหาเงินมาหมุนไม่ทัน จะโดนทวงโหดมาก และหากใครคิดจะชิ่ง แล้วไปแจ้งความแทน อันนี้ก็ไม่รอดจากการทวงนะ ถ้าคิดจะยืมแอปพวกนี้ ยังไงก็ต้องคืน ถ้าหาคืนไม่ได้ อย่าไปยืมเขาเลย เขาให้เงินจริง แต่ก็ทวงโหดจริง แบบเงินนอกระบบนั่นเอง

ที่สำคัญในขั้นตอนการสมัคร นอกจากแอปจะได้ข้อมูลส่วนตัวของเราไป ยังได้รายชื่อคนในโทรศัพท์ของเราไปด้วย ซึ่งเขาก็พร้อมที่จะโทรทวงทุกคน ข่มขู่ คุกคาม ประจานต่าง ๆ นานา ถ้านึกไม่ออกว่าโหดขนาดไหน ลองอ่านบทความจากไทยรัฐบทความนี้ได้ มีตัวอย่างเคสที่เกิดขึ้นให้เห็น

แล้วจะทำยังไงดี?

นี่เป็นคำแนะนำง่าย ๆ ที่คุณสามารถทำตามได้

ในกรณีก่อนที่จะกู้เงิน

  • ไม่โหลดมาใช้ไปเลย จะดีที่สุด หากต้องการกู้เงินถูกกฏหมาย ปัจจุบันสามารถกู้ได้ทั้งกับ mobile banking ของธนาคารที่คุณใช้ แอปกู้เงินถูกกฏหมาย หรือติดต่อสถาบันการเงินใกล้บ้านที่สาขา ก็ยังเป็นวิธีที่ดีอยู่
  • ค้นหาข้อมูลทุกครั้ง ก่อนทำการกู้เงินกับแอป ๆ นั้น เพราะไม่ใช่มีแค่สินเชื่อนกน้อยที่หลอกลวง ต้องบอกว่ามีอีกเยอะ เอาชื่อแอป ชื่อบริษัท เจ้าของไปเสิร์ซในกูเกิล ก่อน อ่านบทความรีวิว อ่านรีวิวในเพลย์สโตร์ เห็นคะแนนสูง ดาวน์โหลดเยอะ อย่าเพิ่งเชื่อ ของพวกนี้ปั่นยอดกันได้หมดเลย
  • นำชื่อแอปหรือบริษัทไปเช็คที่  www.1359.go.th เว็บไซต์รวบรวมพิโกไฟแนนซ์ เพราะแอปกู้เงินมักจะได้รับใบอนุญาตประเภทนี้ และที่ https://www.bot.or.th/app/BotLicenseCheck เว็บไซต์เช็คใบอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน จากธนาคารแห่งประเทศไทย มีสักที่ใดที่หนึ่งก็อุ่นใจ
  • ถ้าจะกู้เงินเพราะคิดว่าไม่มีทางเลือกแล้วจริง ๆ การทวงมันโหดร้ายมากนะ คิดหาเงินล่วงหน้าไว้ก่อนเลย

หากกู้เงินหรือเกิดข้อผิดพลาดไปแล้ว

  • คืนเงินให้ครบทุกบาททุกสตางค์ อันนี้สำคัญ ไม่คืนยังไงก็โดนทวง หนีไม่ได้เด็ดขาด
  • เปลี่ยนชื่อบัญชี Facebook, LINE หรือเบอร์โทรที่ใช้กับแอปนั้น เพื่อป้องกันการนำไปใช้ ส่ง sms หลอกลวงอื่น ๆ ในภายภาคหน้า
  • ในกรณีผูกบัตรอะไรกับแอปก็ตาม ให้ทำการอายัติบัตรนั้นไป เพราะอาจถูกดูดเงินออกจากบัตรได้ ดังที่เป็นข่าว
  • ปรึกษาและศึกษาข้อมูล โดยปัจจุบันมีเพจเฟซบุ๊คอย่าง Anti หมวกกันน็อค Online คอยให้คำแนะนำ
  • หากได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งความร้องทุกข์โดยตรงได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599.

ทั้งนี้การแจ้งความจะช่วยเหลือได้ในบางกรณีเท่านั้นนะ ต้องยอมรับเลยว่า เคสที่โดนหลอก นั้นมีมากมหาศาลเหลือเกิน และแอปเงินกู้นอกระบบก็มีเยอะมาก ๆ ใน Google Play Store คิดดูละกันขนาด Google บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกยังจัดการไม่หมด

ฉะนั้นหากพลาดไปแล้ว หาเงินมาคืนแล้วรีบออกจากวงจรนี้ หาสินเชื่อในระบบที่ช่วยปิดหนี้นอกระบบมาปิดหนี้ไปก่อน จะเป็นทางออกที่คุณทำได้ หากยังไม่พลาด ก็อย่าพลาดเลย