ลิสซิ่ง รถยนต์คืออะไร ทำอย่างไร

ทุกวันนี้เราพบเห็นธุรกิจการให้บริการทางการเงิน “ลิสซิ่งรถยนต์” จำนวนมาก แล้วลิสซิ่งรถยนต์ คืออะไร คำว่าลิสซิ่งที่เราเรียกกันจนเคยชินจริง ๆ มีความหมายอย่างไร ใช่บริการรถแลกเงินหรือป่าว หรือว่าเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถ? บทความนี้มีคำตอบ

ลิสซิ่งรถยนต์ มีความคล้ายกับการเช่าซื้อรถยนต์ แต่แตกต่างกันอยู่ที่ การลิสซิ่งรถยนต์จะเป็นการจ่ายเงินเป็นงวด ๆ และเมื่อครบกำหนดสัญญาก็สามารถเลือกได้ว่าจะเช่าต่อ ซื้อต่อ หรือคืนให้กับผู้ให้เช่า ในขณะที่สัญญาเช่าซื้อ เมื่อครบกำหนดรถจะถูกโอนกรรมสิทธิ์เป็นของเราทันที เพราะฉะนั้นแล้ว ลูกค้าลิสซิ่งรถยนต์ส่วนใหญ่จึงเป็นบริษัท องค์กร หรือนิติบุคคลต่าง ๆ มากกว่าบุคคลธรรมดา

ธุรกิจลิสซิ่งรถยนต์ ให้บริการด้านใดบ้าง และถ้าสนใจต้องการลิสซิ่งรถยนต์จะต้องทำอย่างไร เตรียมเอกสารอะไรติดตามอ่านต่อกันได้เลย

ลิสซิ่งรถยนต์ คืออะไร?


ธุรกิจลิสซิ่งรถยนต์ คือ ธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดหารถยนต์ให้ได้ตามความต้องการของผู้ใช้บริการ ซึ่งลูกค้าของลิสซิ่งรถยนต์สามารถเป็นได้ทั้ง บริษัท, ผู้ประกอบธุรกิจหรือองค์กรที่เป็นนิติบุคคล หรือจะเป็นบุคคลที่เป็นผู้บริโภคทั่ว ๆ ไปก็ได้ ส่วนผู้ประกอบธุรกิจลิสซิ่งรถยนต์สามารถเป็นได้ทั้งธนาคารพาณิชย์, บริษัทเงินทุน, บริษัทประกันชีวิต, บริษัทจดทะเบียนทั่วไป หรือแม้แต่บริษัทที่ผลิตรถยนต์เอง ก็สามารถทำธุรกิจลิสซิ่งรถยนต์ได้


ซึ่งลิสซิ่งรถยนต์จะทำการจัดหารถยนต์ให้กับลูกค้าที่เป็นนิติบุคคลหรือผู้บริโภคทั่วไปที่ขาดเงินทุนในการซื้อรถยนต์มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง หรือจัดหารถยนต์สำหรับนิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้ต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ 

แต่แค่ต้องการใช้รถยนต์ในกิจการของตัวเอง ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น รถยนต์ประจำตำแหน่ง สำหรับข้าราชการระดับสูง หรือรถยนต์สำหรับผู้บริหารองค์กรเอกชน เพราะรถยนต์เป็นทรัพย์สินที่เสื่อมสภาพไปตามอายุของการใช้งาน และตกรุ่นง่าย ในบางธุรกิจจึงเลือกเป็นการเช่ารถยนต์ไปโดยมีระยะเวลาตามที่คู่สัญญาได้ตกลงกัน ซึ่งเมื่อหมดสัญญาเช่าผู้เช่าก็สามารถเลือกได้ว่าจะเช่าต่อ ซื้อต่อ หรือส่งคืน

ธุรกิจลิสซิ่งรถยนต์ ไม่ได้มีแค่ลิสซิ่ง


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง “สัญญาลิสซิ่ง” และ ”สัญญาเช่าซื้อ” ก่อน
สัญญาเช่าซื้อ จะคล้ายกับการซื้อสินค้าแบบเงินผ่อน คือเป็นสัญญาที่ให้นำรถไปใช้งานได้ และชำระเงินมาเป็นงวด ๆ ตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และเมื่อชำระจนครบกำหนดแล้วผู้เช่าจะมีสิทธิ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถนั้นทันที ส่วนสัญญาลิสซิ่ง คือ สัญญาที่เราสามารถนำรถไปใช้ได้ก่อนเหมือนกัน ชำระเงินเป็นงวด ๆ ตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้ว สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อรถไว้ หรือเช่าต่อ หรือว่าจะส่งคืนให้กับผู้ให้เช่า 

ซึ่งธุรกิจลิสซิ่งรถยนต์ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีการประกอบธุรกิจอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย นั่นคือธุรกิจเช่าซื้อ และเป็นรูปแบบสัญญาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และผู้ใช้บริการส่วนมากก็จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือผู้บริโภคทั่วไป ส่วนสัญญาลิสซิ่งรถยนต์ ส่วนมากจะเป็นลูกค้าที่เป็นนิติบุคคล เพราะไม่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ซื้อ และไม่ต้องแบกรับภาระในการซ่อมบำรุง ค่าเสื่อมสึกหรอและอะไหล่ต่าง ๆ สามารถควบคุมบัญชีรายจ่าย และลดค่าใช้จ่ายด้านภาษีลงได้ด้วย

ต้องการลิสซิ่งรถยนต์ต้องทำยังไง?


โดยปกติแล้วควรติดต่อผู้ให้บริการลิสซิ่งรถยนต์โดยตรงเลย แต่ถ้าอยากเตรียมเอกสารไว้ก่อนล่วงหน้าแนะนำให้เตรียมเอกสารดังนี้
สำหรับบุคคลธรรมดา

  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • หนังสือรับรองเงินเดือน
  • รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือนขึ้นไป

สำหรับนิติบุคคล

  • สำเนาหนังสือรับรองจดทะเบียนนิติบุคคล
  • สำเนาทะเบียนการค้า
  • ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.20)
  • สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ. 5)
  • สำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของกรรมการทุกรายชื่อที่มีอำนาจลงนามของบริษัท
  • สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 25% ขึ้นไปของบริษัท
  • สำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของผู้ค้ำประกัน
  • สำเนารายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
  • เอกสารแสดงความยินยอมให้ตรวจสอบข้อมูลเครดิต


ส่วนบริษัทลิสซิ่งก็เลือกใช้บริการได้ตามความสะดวกเลย ไม่ว่าจะเป็นลิสซิ่งรถยนต์จากธนาคารพาณิชย์, บริษัทประกันภัย, บริษัทเงินทุน, บริษัทจดทะเบียนทั่วไป หรือจากบริษัทที่ผลิตรถยนต์เอง แต่ถ้าจะให้แนะนำก็จะแนะนำเป็นลิสซิ่งจากบริษัทประกันภัย, สถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ เพราะจะอยู่ในความดูแล และอยู่ในหลักเกณฑ์ตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังและกรมการประกันภัยกำหนด

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *